พริก [เล่าเรื่อ…
ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำขนมกงของชุมชนวัดเกษไชโย (จุฑามาศ พีรพัชระ : ผู้เล่า)
ความรู้การทำขนมกงและขนมสามเกลอของภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลไชโย เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ บางส่วนเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะ ครูพักลักจำ ขนมกงที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้ เป็นขนมประเภททอด มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓-๓ ๑/๒ นิ้ว สีเหลืองทองอมน้ำตาล กลิ่นหอมเกิดจากกลิ่นถั่วเขียว กะทิ และมะพร้าว เนื้อสัมผัสข้างนอกกรอบข้างในนุ่ม รสชาติออกหวาน ทำจากถั่วเขียวที่นำมาคั่วให้หอม แช่ค้างคืนเพื่อให้ถั่วนุ่ม ประกอบเป็นขนมได้ง่าย หรืออาจใช้วิธีการต้มโดยไม่ต้องแช่ค้างคืน จากนั้น จึงนำมาบดละเอียด อาจผึ่งแดดพอให้ถั่วมีลักษณะกระจายตัวเพื่อให้ความชื้นลดลง ช่วยลดเวลาการกวนไปได้บ้าง แล้วจึงกวนกับ กะทิ น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวขูดขาว และแป้งข้าวเหนียว นวดผสมให้เนื้อเนียน แบ่งเป็นก้อน คลึงเป็นเส้นยาว แล้วจับปลายสองข้างมาบรรจบกันเป็นวงกลม ด้านบนใช้ถั่วเขียวกวนคลึงเป็นเส้นแล้วคาดให้เป็นกากบาท ชุบแป้งชุบทอดที่เตรียมจากแป้งข้าวเหนียว หรือแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้า ไข่เป็ด กะทิ น้ำตาลทราย และแป้งเชื้อ บางครั้งมีการประยุกต์ใช้สารเคมีช่วยเพื่อให้ขนมฟูเบา ได้แก่ ผงฟู และเบกิ้งโซดา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนวิธีการทำแบบดั้งเดิมที่ต้องพักแป้งไว้ ๖-๗ ชั่วโมงก่อนถึงกระบวนการทอด การทำขนมกงนี้ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในครัวเรือนและท้องถิ่น หากแต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำขนมกง ขาดการสืบทอดไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน โดยคุณยุพิน โมราทอง ประธานกลุ่มสหกรณ์สตรีเกษไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ได้เล่าว่า สมาชิกรุ่นลูกในครอบครัวส่วนใหญ่ทำงานในสถานที่ราชการ และสถานประกอบการในตัวจังหวัดอ่างทอง จังหวัดใกล้เคียง และกรุงเทพมหานคร สำหรับสมาชิกรุ่นหลาน อยู่ระหว่างศึกษาหาความรู้ในโรงเรียน และไม่เห็นความจำเป็นในการฝึกทักษะการทำขนมไทยโบราณชนิดนี้ แม้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้บ้างก็ตาม ด้วยภารกิจดังกล่าวมาแล้ว ภูมิปัญญาเหล่านี้ จึงอยู่กับตัวเจ้าของความรู้เป็นหลัก และมีโอกาสสูญหายไปตามกาลเวลา